พฤติกรรมมนุษย์กับการพัฒนาตน

พฤติกรรมมนุษย์กับการพัฒนาตน


    การดำเนินชีวิตในยุคโลกาภิวัตน์ อันเป็นยุคแห่งข้อมูลข่าวสารและโลกไร้พรมแดน ยุคที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน เร่งรีบ การเผชิญกับสิ่งแปลกใหม่และวิทยาการต่าง ๆ ซึ่งมีทั้งสิ่งที่ดีขึ้น และบางส่วนส่งผลให้สังคมขาดสันติสุข หากนักศึกษาได้มีเวลาสักช่วงหนึ่งของชีวิตที่สำรวจตรวจสอบ แสวงหาคำตอบเรื่องแก่นแท้แห่งพฤติกรรมเพื่อเป็นความรู้เบื้องต้นอันจะนำไปสู่นวทางพัฒนาตน อาจจะเป้นอีกช่องทางหนึ่งในการช่วยดำรงตนตามบทบาทต่าง ๆ ได้โดยเหมาะสม ช่วยให้การดำเนินชีวิตมีประสิทธิภาพมาขึ้นทั้งในด้านชีวิตการเรียน การทำงาน และชีวิตส่วนตัว ในบทที่ว่าด้วยความรู้เบื้องต้นเรื่องการศึกษาพฤติกรรมมนุษย์กับการพัฒนาตนนี้ ประกอบด้วยขอบข่ายของการศึกษาพฤติกรรม เป้าหมายของการศึกษาพฤติกรรม จุดประสงค์ของการศึกษา พฤติกรรมมนุษย์กับการพัฒนาตน ศาสตร์ที่ให้ความรู้ด้านพฤติกรรม วิธีการศึกษาพฤติกรรม การเก็บข้อมูลพฤติกรรมเชิงจิตวิทยา แนวทัศนะเกี่ยวกับพฤติกรรมมนุษย์กับการพัฒนาตน และข้อควรคำนึงใน การนำความรู้เรื่องพฤติกรรมไปพัฒนาตน เพื่อเป็นบทนำพื้นฐานสู่การศึกษาพฤติกรรมมนุษย์กับการพัฒนาตนในบทอื่นต่อไป โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้ศึกษามีความสามารถดังนี้

.

1. เข้าใจ วิเคราะห์ และสังเคราะห์ ขอบข่ายของการศึกษาพฤติกรรมในด้านความหมายประเภท และพฤติกรรมที่ควรเน้นศึกษาเพื่อพัฒนาตน


2. ระบุเป้าหมาย ตระหนักในความสำคัญ และเข้าใจจุดประสงค์ของการศึกษาพฤติกรรม


3. วิเคราะห์ที่มาของความรู้ด้านพฤติกรรม วิธีศึกษาพฤติกรรม และนำมาประยุกต์ใช้ เพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมของตนเอง และผู้อื่นได้


4. วิเคราะห์ สังเคราะห์ และระบุแนวทางการประยุกต์ใช้แนวทัศนะเกี่ยวกับพฤติกรรมมนุษย์เพื่อพัฒนาตน รวมทั้งสามารถนำความรู้และข้อควรคำนึงในการประยุกต์ความรู้ไปวางแผนพัฒนาตนได้อย่างเหมาะสม



1.1 ขอบข่ายของการศึกษาพฤติกรรม


พฤติกรรมของมนุษย์มีขอบเขตกว้างขวางและซับซ้อน เพื่อให้การศึกษาพฤติกรรมมนุษย์กับการพัฒนาตนเป็นไปโดยไม่สับสนและเจาะจงสู่เป้าหมายตามหลักสูตร ในที่นี้จะกล่าวถึงความหมายของพฤติกรรม ประเภทของพฤติกรรม และพฤติกรรมที่มุ่งเน้นเพื่อการพัฒนาตน


1.1.1 ความหมายของพฤติกรรม


มีผู้ให้ความหมายคำว่า พฤติกรรม” (behavior) ไว้มาก ที่น่าสนใจเช่น เวดและทาฟรีส (Wade and Tavris 1999 : 245 ) อธิบายว่า พฤติกรรมคือการกระทำของคนเราที่สังเกตได้ ซืมบาร์ โดและเกอร์ริก (Zimbardo and Gerrig 1999 : 3) อธิบายว่า พฤติกรรมเป็นการกระทำของบุคคลเพื่อปรับตัวต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่สังเกตได้ และลาเฮย์ (Lahey 2001 : 5) กล่าวว่า พฤติกรรมเป็นการประพฤติปฏิบัติของบุคคลที่สามารถสังเกตได้


จากความหมายและคำอธิบายที่อ้างถึงไว้ อาจกล่าวได้ว่าพฤติกรรมคือการกระทำ ของบุคคลในทุกลักษณะ ทั้งที่เป็นโดยธรรมชาติทางสรีระและที่จงใจกระทำ ซึ่งอาจจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว และ เป็นการกระทำที่สังเกตได้โดยอาจใช้ประสาทสัมผัสธรรมดาหรือใช้เครื่องมือช่วยการสังเกต


1.1.2 ประเภทของพฤติกรรม


การศึกษาพฤติกรรมยุคปัจจุบันไม่สู้เน้นการแบ่งประเภทของพฤติกรรมนัก แต่ในที่นี้ได้พิจารณาเห็นว่าการแบ่งประเภทของพฤติกรรมจะช่วยให้เข้าใจแนวทางการพัฒนาพฤติกรรมได้ง่ายขึ้น ซึ่งนักจิตวิทยานิยมแบ่งพฤติกรรมได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้


(1) พฤติกรรมภายนอก (overt behavior) เป็นพฤติกรรมที่สังเกตได้โดยชัดเจนแยกได้อีกเป็น 2 ชนิดคือ


(1.1) พฤติกรรมที่สังเกตได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือช่วย เช่น การพูด การหัวเราะ การร้องไห้ การเคลื่อนไหวของร่างกาย หรือแม้แต่การเต้นของหัวใจ ซึ่งผู้อื่นสังเกตได้โดยอาศัยประสาทสัมผัส


(1.2) พฤติกรรมที่ต้องใช้เครื่องมือหรือการวิเคราะห์เชิงวิทยาศาสตร์ เช่น การเปลี่ยนแปลงของสารเคมีหรือปริมาณน้ำตาลในกระแสเลือด การทำงานของกระเพาะอาหารและ ลำไส้ ซึ่งไม่สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่าหรือประสาทสัมผัสเปล่า


(2) พฤติกรรมภายในหรือ ความในใจ (covert behavior) เป็นพฤติกรรมที่เจ้าตัวเท่า นั้นจึงจะรู้ดี ถ้าไม่บอกใคร ไม่แสดงออกก็ไม่มีใครรู้ได้ดี เช่น การจำ การรับรู้ การ เข้าใจ การได้กลิ่น การได้ยิน การฝัน การหิว การโกรธ ความคิด การตัดสินใจ เจตคติ จินตนาการ พฤติกรรมเหล่านี้ อาจมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกาย เช่น ขณะใช้ความคิดคลื่นสมองทำงานมาก หรือขณะโกรธปริมาณน้ำตาลในกระแสเลือดมีมาก ซึ่งวัดได้โดยเครื่องมือ แต่ก็ไม่มีใครรู้ละเอียดลงไปได้ว่าเขาคิดอะไร หรือ เขารู้สึกอย่างไร คนรู้ละเอียดคือเจ้าของพฤติกรรมนั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น